Knowledge Management: KM2561 ด้านการวิจัย คณะนิเทศศาสตร์  กิจกรรมการบริหารและพัฒนาบุคลากรนิเทศศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการความรู้ของคณะ  มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

Knowledge Management: KM2561 ด้านการวิจัย คณะนิเทศศาสตร์ กิจกรรมการบริหารและพัฒนาบุคลากรนิเทศศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการความรู้ของคณะ มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

 

 

การจัดโครงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) ด้านการวิจัย คณะนิเทศศาสตร์ ปีการศึกษา 2561 เรื่อง “การเขียนโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุนภายนอก” จัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 5 ครั้ง เวลาประมาณ 13.00-16.30 น.  ณ ห้องประชุม KM คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา    มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่มเกล้า  ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

ครั้งที่ 5 วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2562

วิทยากร/บุคลากรผู้แบ่งปันความรู้

ภายใน

  1. ผศ.ดร.ต่อตระกูล อุบลวัตร
  2. ผศ.ดร.พิเชษฐ พิมพ์เจริญ

ภายนอก

  1. คุณชาญณรงค์ วงค์วิชัย (ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์)
  1. คุณสุธาทิพ ลาภสมทบ (เจ้าหน้าที่บริหารโครงการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับประชาชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ )

บุคลากรผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

อาจารย์ประจำ หลักสูตร/สาขาวิชาต่างๆ  คณะนิเทศศาสตร์ และอาจารย์ต่างคณะ (บริหารธุรกิจ จิตวิทยา ศิลปศาสตร์)

ผู้บันทึกและสังเคราะห์ความรู้

ผศ.ดร.นิภากร กำจรเมนุกูล

ผลการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) ด้านการวิจัย

สรุปเป็นองค์ความรู้และเกิดการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

ปัจจุบันหน่วยงานภายนอกที่ให้ทุนทำวิจัยกับอาจารย์ นักวิชาการ ประชาชนทั่วไปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในแต่ละที่จะมีเงื่อนไข / ข้อบังคับที่แตกต่างกันไป ในขณะที่การทำวิจัยและงานสร้างสรรค์ของอาจารย์ นักวิชาการที่สังกัดมหาวิทยาลัยจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะขอทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยให้สามารถทำวิจัยในลักษณะมุ่งเป้าที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์กับชุมชน สังคม ในวงกว้างมากขึ้น

สำหรับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป๊นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อส่งเสริมให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม โดยเป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานวิจัยของอาจารย์ นักวิชาการมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเพื่อผลิตและพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านการวิจัย หัวข้อ “การเขียนโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุนภายนอก” ได้ดำเนินการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มาแล้วจำนวน 4 ครั้ง โดยมี ผศ.ดร.ต่อตระกูล อุบลวัตร และผศ.ดร.พิเชษฐ พิมพ์เจริญ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ที่เป็นนักวิจัยในโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบประเมินคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน”ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้ทุนจากหน่วยงานภายนอกอย่างกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ถึงลักษณะงานวิจัยที่มีโอกาสได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอก

ส่วนการจัดประชุมครั้งที่ 5 เป็นมติร่วมกันของคณะกรรมการ KM คณะนิเทศศาสตร์และอาจารย์ผู้เข้าประชุม KM ในช่วง 4 ครั้งที่ผ่านมาว่าในการประชุมเพื่อสรุปเป็นความรู้เกี่ยวกับ แนวทางการขอทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอก ควรเชิญผู้รู้ระเบียบ และวิธีการขอทุนมาให้ความรู้เพิ่มด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและเป็นประโยชน์สำหรับอาจารย์ในคณะและนอกคณะที่สนใจและต้องการลองขอทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอก

สำหรับการประชุมในแต่ละครั้งที่ผ่านมามีอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ เข้าร่วมประชุมจากแต่ละหลักสูตรประมาณ 18-22 คน และการประชุมครั้งที่ 5 นี้นอกจากมีอาจารย์ในคณะนิเทศศาสตร์แล้วยังมีอาจารย์นอกคณะที่สนใจเข้าร่วมประมาณ 20 คน อาทิจากคณะจิตวิทยา ศิลปศาสตร์ และบริหารธุรกิจ

สำหรับองค์ความรู้ด้านการวิจัย เรื่อง “การเขียนโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุนภายนอก” สรุปความรู้ ได้ดังนี้

  1. การเขียนโครงการวิจัยเพื่อขอทุนภายนอก อาจารย์/นักวิชาการต้องเข้าใจยุทธศาสตร์และเป้าหมายการขับเคลื่อนของแหล่งทุนแต่ละที่ให้ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันแหล่งทุนภาครัฐหลายแห่งมักกำหนดหัวข้อหรือประเด็นปัญหาการวิจัยค่อยข้างชัดเจนและหลากหลายหัวข้อ
  2. การเขียนโครงการวิจัยต้องให้มีองค์ประกอบของหัวข้อที่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่แหล่งทุนให้มา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการอธิบายตามขั้นตอนและองค์ประกอบการทำวิจัยทั้งหมด เช่น ที่มาและความสำคัญจำเป็นที่ต้องทำวิจัยเรื่องนี้ คำถามนำการวิจัย วัตถุประสงค์การวิจัย สมมติฐานการวิจัย (ถ้ามี) ประโยชน์งานวิจัย การนำแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาใช้ ระเบียบวิธีวิจัย เป็นต้น
  3. กรณีของกองทุนฯ ไม่แตกต่างจากแหล่งทุนอื่น คือ การขอทุนวิจัยต้องเขียนให้ชัดเจน ตาม KPI หรือตัวชี้วัดที่แหล่งทุนกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติด้วย
  4. ถ้าเป็นวิจัยในลักษณะ R&D แหล่งทุนจะเข้มเรื่องการต่อยอดของงานวิจัย ดังนั้นโครงการวิจัยที่จะขอทุนต้องเขียนให้เห็นการขยายผลโดยนักวิจัยต้องเสนอให้ได้ว่างานวิจัยที่จะทำสามารถขยายผลต่อยอดได้อย่างไรบ้าง เวลากองทุนพิจารณาไม่ได้พิจารณาว่าขอมาเท่าไร แต่ให้ความสำคัญว่าภายใต้การทำงานของเราจะนำไปต่อยอดขยายผลอย่างไร
  5. โครงการวิจัยทีเสนอขอต้องไม่ขอทับซ้อนกับแหล่งทุนอื่นถ้าแหล่งทุนพบว่ามีการใช้งานเรื่องเดียวกันซ้อนกับแหล่งทุนอื่น ทางกองทุนฯ จะส่งให้อธิการบดี หรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงรับทราบทันทีเพราะเป็นเรื่องผิดจริยธรรมที่ร้ายแรงมาก หรือการลอกงานคนอื่นก็เข้าข่ายนี้
  6. การเขียนโครงการวิจัยเพื่อให้ได้ทุนจากภายนอกให้ความสำคัญเช่นเดียวกับงานวิจัยอื่นๆ คือ ประเด็นด้านจรรยาบรรณของนักวิจัยว่าด้วยเรื่องการคัดลอกผลงาน และจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ดังนั้นอาจารย์ต้องเขียนชี้แจงประเด็นเรื่องเหล่านี้เข้ามาด้วย
  7. การเขียนโครงการวิจัยเพื่อขอทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกยังต้องพิจารณาเงื่อนไขการส่งข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน กรณี กองทุนสื่อปลอดภัยฯ นอกจากจะต้องส่งผลงานวิจัยในเวลาที่กำหนดแล้ววิธีการส่งต้องเป็นไปตามที่กองทุนฯ กำหนดคือ ต้องกรอกข้อมูลลงโปรแกรมขอทุนของกองทุนฯ เท่านั้น การกรอกในระบบทำให้ไม่ต้อง printout และมีหลักฐานง่ายทั้งคนตรวจและคนเสนอขอ แต่ต้องกรอกให้ครบทั้ง 4 ส่วนที่กองทุนกำหนดไว้ และสามารถแนบไฟล์ประกอบได้ โดยการขอเปลี่ยนข้อมูลสามารถทำได้แต่ต้องแจ้งผู้จัดการกองทุนก่อน แต่ไม่ควรทำควรให้มั่นใจในข้อมูลแล้วค่อยกรอกเพราะการเปลี่ยนข้อมูลทำให้เสียเวลาหรือใช้เวลามากในการพิจารณา
  8. การกรอกข้อมูลลงแบบฟอร์มในระบบจะช่วยเรื่อง (1) เป็นการตรวจสอบว่างานวิจัยที่ขอมาไม่ทับซ้อนหรือเคยขอมาแล้ว (2) การส่งตรวจสอบการคัดลอกผลงานด้วยระบบอัคราพิสุทธ์ และมีเรื่อง lock claim และเรื่องจำนวนนับ เช่น การกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นจำนวนนับว่าเท่าไรถึงเวลาก็ต้องทำกิจกรรมให้ครบอย่างที่เขียน ดังนั้นผู้ขอทุนควร load แบบฟอร์มมากรอกด้วยมือก่อน
  9. กรณีกรอกตัวชี้วัดควรเป็นตัวเลขหรือข้อความที่วัดได้จริงๆ ทั้งเชิงคุณภาพ และปริมาณ โดยสามารถกำหนด over ได้แต่ไม่ควร under เป็นการดูความเป็นไปได้ของโครงการ
  10. การกำหนดงบประมาณในการเสนอขอทุนวิจัย ควรให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือการใช้จ่ายจริงที่มีปัญหาคือ เรื่องค่าตอบแทนนักวิจัย ถ้ามากกว่า 30-40% ก็ดูเกินไป ซึ่งจะมีฐานข้อมูลแบบประมาณการการใช้จ่ายแต่ละหมวดให้ผู้ขอทุนพิจารณา
  11. การกำหนดตัวชี้วัดในโครงการวิจัยที่ยื่นขอทุนมีความสำคัญมากควรเขียนให้ชัดเจน เช่น กำหนดว่า เด็กจะเข้าถึงสื่อมากขึ้น แล้วเราจะวัดการเข้าถึงอย่างไร ควรให้เห็นกระบวนการวัดที่ถูกต้อง เหมาะสมด้วย
  12. ส่วนเรื่องหลักฐานก็สำคัญ เพราะจะมีผู้รับทุนประเภทต่างๆ ซึ่งจะใช้หลักฐานไม่เหมือนกัน ดังนั้นหลักฐานที่ต้องแนบต้องถูกต้องและครบถ้วน และเรื่องลิขสิทธิ์หรือการยินยอมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะงานสร้างสรรค์ที่ต้องเอาไปทำเงินต่อยอดได้

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *