Knowledge Management: KM2561 ด้านการเรียนการสอน คณะนิเทศศาสตร์  กิจกรรมการบริหารและพัฒนาบุคลากรนิเทศศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการความรู้ของคณะ  มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

Knowledge Management: KM2561 ด้านการเรียนการสอน คณะนิเทศศาสตร์ กิจกรรมการบริหารและพัฒนาบุคลากรนิเทศศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการความรู้ของคณะ มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

การจัดโครงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) ด้านการเรียนการสอน คณะนิเทศศาสตร์ ปีการศึกษา 2561 เรื่อง การสร้างเครื่องมือสำหรับประเมินผู้เรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ จัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 5 ครั้ง เวลาประมาณ 13.00-16.30 น.  ณ ห้องประชุม KM

คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่มเกล้า  ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2562

ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ.2562

ครั้งที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

ครั้งที่ 4 วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 และ

ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

วิทยากรผู้แบ่งปันความรู้

  1. อ.เมธาพร ดอนจันทร์
  2. อ.พสุนาท สร้อยสุวรรณ
  3. อ.พิทักษ์พงศ์ พงษ์พิพัฒน์

 บุคลากรผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

คณบดี รองคณบดี และอาจารย์ประจำหลักสูตร/สาขาวิชาต่างๆ  คณะนิเทศศาสตร์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 19 คน

ผู้บันทึกและสังเคราะห์ความรู้

คุณจุฬาพร ด้วงทอง และผศ.ดร.นิภากร กำจรเมนุกูล

สรุปองค์ความรู้ที่ได้รับและประสบการณ์การความรู้นำไปใช้

จากการประชุมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ หัวข้อ “การสร้างเครื่องมือสำหรับประเมินผู้เรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์”  ซึ่งวิทยากรผู้แบ่งปันความรู้คืออาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ที่ผ่านการอบรมด้านการวัดและประเมินผลผู้เรียนแบบเน้นผลลัพธ์ (Outcome-Based Assessment) และผ่านการใช้ความรู้ในการสร้างเครื่องมือสำหรับประเมินผู้เรียนในรายวิชาด้านนิเทศศาสตร์มาแล้ว เช่น อ.พสุนาท ใช้ในวิชา BC.111 หลักวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อดิจิทัล  ซึ่งเป็นรายวิชาสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1  อาจารย์เมธาพร  ดอนจันทร์  ใช้วิชา CA.100 หลักและทฤษฎีทางนิเทศศาสตร์โดยใช้รูปแบบรูบิค สกอร์ (Rubrics Score)  เพื่อวัดและประเมินผลผู้เรียน ทดลองทำมาแล้ว  2 เทอมซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และอาจารย์พิทักษ์พงศ์  พงษ์พิพัฒน์  ใช้กับรายวิชา CA.108 การประชาสัมพันธ์และการโฆษณาเบื้องต้น โดยมอบหมายงานให้นักศึกษาทำหนังโฆษณา  และแจ้งเกณฑ์การวัดและประเมินผลไว้อย่างชัดเจน

สำหรับอาจารย์ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรต่างๆ ของคณะนิเทศศาสตร์ที่สนใจและต้องการมีความรู้และใช้ความรู้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมมากขึ้นเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลในวิชาที่รับผิดชอบสอนในคณะนิเทศศาสตร์ เพื่อจะปรับใช้ความรู้ที่ได้รับจากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิชาที่สอนในปีการศึกษา 2561 และพัฒนาต่อไปยังวิชาที่รับผิดชอบสอนในปีการศึกษา 2562 ต่อไป

ทั้งนี้จากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อดังกล่าว พบประเด็นที่เป็นความรู้ด้านการสร้างเครื่องมือสำหรับประเมินผู้เรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ ดังนี้

  1. การสร้างเครืองมือสำหรับประเมินผลผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน และผู้สอนต้องกำหนดไว้ใน มคอ.3 ให้ชัดเจน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกภาคการศึกษาที่เราเห็นว่าเหมาะสม
  2. วัตถุประสงค์การเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดประเมินผลต้องสัมพันธ์กัน
  3. การออกแบบการวัดและประเมินผลควรทำให้มีลักษณะกลางๆ ด้วยเพราะนักศึกษาในชั้นเรียนจะมีระดับความรู้แตกต่างกัน
  4. ผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้วิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเรียนการสอนทางนิเทศศาสตร์ที่มีรายวิชาทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติควบคู่กัน ที่สำคัญต้องเลือกวิธีการวัดและประเมินผลให้เหมาะกับผู้เรียนและการเรียนการสอนในรายวิชาของเรา
  5. การสร้างเครื่องมือหรือกำหนดวิธีการวัดและประเมินผลต้องกำหนดวัตถุประสงค์การวัดให้ชัดเจนเพราะเป็นการวัด Learning Outcome และระหว่างการสอนก็สามารวัดได้ตามความเหมาะสม
  6. การวัดและประเมินผลผู้สอนต้องกำหนดวิธีการวัดหรือสร้างเครื่องมือให้ผิดพลาดน้อยที่สุดเพราะการวัดบางอย่างวัด 100% ไม่ได้ เช่น เรื่องจรรยาบรรณ
  7. การสร้างเครื่องมือเพื่อวัดและประเมินผลผู้เรียนในรายวิชาของคณะนิเทศศาสตร์ผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนรู้ว่าเราคาดหวังกับผู้เรียนที่เรียนวิชานี้อย่างไร แค่ไหน หรือเป็นการแจ้งเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้ในการเรียนวิชานี้ให้กับผู้เรียนด้วย
  8. การประเมินผลผู้เรียนในรายวิชาของคณะนิเทศศาสตร์ผู้สอนต้องมี feedback กลับไปยังผู้เรียนด้วยว่าต้องปรับปรุงเรื่องใด ทำไม ผลการประเมินไม่เป็นไปตามเกณฑ์เพราะอะไร
  9. การกำหนดเกณฑ์การประเมินผู้เรียนต้องสอดคล้องกับสิ่งที่สอนด้วย หรือ ควรให้มีความสัมพันธ์กันระหว่างการกำหนดเครื่องมือ/เกณฑ์การประเมินผู้เรียน วิธีการสอนของผู้สอน และผลลัพธ์ที่ผู้สอนต้องการให้เกิดกับผู้เรียน
  10. การสร้างเครื่องมือหรือกำหนดวิธีการวัดและประเมินผลผู้เรียนในวิชาด้านนิเทศศาสตร์ต้องอย่าลืมเรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (TQF 5 ด้าน) เพราะกรณีที่เป็นด้านที่เน้น (จุดดำ)ต้องมีการประเมินที่ชัดเจนมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและวัตถุประสงค์ของวิชาที่ชัดเจน รวมถึงควรให้ความสำคัญกับกรอบมาตรฐานอื่นๆ เช่น จะประเมินทักษะทางปัญญา (Cognitive Skill) ต้องวัดเรื่อง การคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา คิดอย่างมีวิจารณญานของผู้เรียน หรือ ทักษะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ควรเน้นให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่มและมีการกำกับติดตามให้นักศึกษารายงานความก้าวหน้าของงานทุกคน โดยอาจทำเป็นรายงานกลุ่มๆ ละ 5-10 นาที หรือกรณีวิชา 111 วัดด้านคุณธรรมและจริยธรรม จะวัดในเรื่องของเวลา จะวัดในจุดนี้ทุกสัปดาห์  แล้วสัปดาห์ไหนวัดเรื่องอะไรบ้างก็ทำเครื่องหมายไว้ เพื่อที่จะมีแนวทางสอนว่าเราทำตามครบตามแนวจุดขาวและจุดดำอะไรได้บ้าง
  11. การใช้เครื่องมือสำหรับประเมินผู้เรียนโดยใช้เกณฑ์การให้คะแนน (Scoring Rubrics) เป็นวิธีที่การเรียนการสอนทางนิเทศศาสตร์นำมาใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะ สามารถแบ่งคะแนนในแต่ละส่วนได้อย่างชัดเจน สามารถบอกผู้เรียนได้ว่าคะแนนแต่ละส่วนมาจากไหน ทำไม (และเป็นการแก้ปัญหาที่อ.ผู้สอนหรือนักศึกษาเจอคือการถามที่มาของคะแนนของนักศึกษาที่ไม่พอใจในคะแนนที่ได้รับ) และทำให้ผู้สอนมีหลักฐานยืนยันถึงคะแนนที่นักศึกษาได้รับชัดเจนมากขึ้น
  12. ตัวอย่างการกำหนดวิธีการ/เกณฑ์ในการวัดและประเมินผลวิชาด้านนิเทศศาสตร์ที่มีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เช่น วิชา111 หลักวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อดิจิทัล จะวัดเรื่องการเขียนได้ตรงประเด็น มีส่วนประกอบของเรื่องครบถ้วน เขียนภาษาได้ถูกต้อง ได้แก่ ภาษาเชิงเทคนิคทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยถูกต้องครบถ้วน  เรียกชื่ออุปกรณ์ได้ถูกต้อง ตัวสะกด  และไวยกรณ์ถูกต้อง มีภาพประกอบและคำอธิบายภาพจะได้คะแนนเต็ม 3 คะแนน เป็นต้นแต่ถ้าคะแนนรองลงมา เช่น ภาษาอังกฤษผิด ไวยกรณ์ถูกต้อง มีภาพประกอบแต่ไม่มีคำอธิบายภาพจะได้ 2 คะแนน แต่ถ้าไวยกรณ์ไม่ถูกต้อง มีภาพ ไม่มีคำอธิบายภาพ ก็จะได้ 1 คะแนน เป็นต้น และให้ทำส่งเป็นรูปเล่มรายงานที่ถูกต้อง  นอกจากการสอนในเชิงทฤษฎีแล้วผู้สอนยังให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติจริง โดยให้นักศึกษาผลิตคลิปวิดีโอสั้น และก่อนที่จะพานักศึกษาไปทัศนศึกษาอาจารย์ผู้สอนได้ทำรูปแบบรูบิค สกอร์    ไว้แล้วว่าในการประเมินคลิปวิดีโอนั้นจะประเมินอย่างไร  เช่น ประเมินเนื้อหา เทคนิคที่นำเสนอ ความพร้อมในการนำเสนอ  ถ้านักศึกษาได้ 3 คะแนนนักศึกษาจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น ดึงจุดเด่นของเพื่อนได้ออกมาอย่างชัดเจน มีเนื้อหาที่ถูกต้องและเหมาะสม ทำให้จดจำได้ง่าย มีการลำดับเรื่องที่น่าสนใจ ใช้เทคนิคพิเศษเหมาะสม มีการใช้เสียงประกอบ มีใช้เทคนิคพิเศษเพื่อดึงดูดผู้ฟัง ถ้ามีเกณฑ์ที่กล่าวมานี้นักศึกษาจะได้ 3 คะแนนเป็นต้น และคะแนนที่ต่ำกว่านี้ก็จะได้คะแนนลดลั่นลงไป
  13. ตัวอย่างการกำหนดเกณฑ์การวัดและประเมินผลที่ผู้สอนกำหนดและแจ้งนักศึกษาในรายวิชาที่เน้นทฤษฎีแต่ออกแบบรูปแบบการเรียนการสอนให้มีปฏิบัติเพิ่มเข้ามาเพื่อให้วิชาน่าสนใจในขณะเดียวกันผู้เรียนก็ได้ประโยชน์จากรายวิชาตามที่ผู้สอนตั้งวัตถุประสงค์ไว้ เช่น วิชา 108 การประชาสัมพันธ์และการโฆษณาเบื้องต้น ในการมอบหมายงานให้นักศึกษาทำหนังโฆษณา โดยสร้างเกณฑ์การให้คะแนนไว้ดังต่อไปนี้  การฝึกปฏิบัติทำคลิป VDO โฆษณา หรือ รณรงค์ ความยาว 30-60 วินาที  20 คะแนน (งานกลุ่ม) ซึ่งผลสรุปคือ นักศึกษามีความสนุกในการเรียน และมีส่วนร่วมมากขึ้น  มีความชัดเจนเป็นธรรมในการให้คะแนนมากขึ้นเพราะผู้สอนกำหนดเกณฑ์โดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมด้วยและแจ้งนักศึกษาในชั้นเรียนได้ทราบ  ได้แนวทางปรับปรุงพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนให้ดีขึ้นในปีต่อ ๆ ไป
  14. กรณีวิชาที่สอนเป็นทีมสอน เช่น วิชาการทำสารนิพนธ์ หรือผลิตงานสร้างสรรค์ (Project) ที่ใช้อาจารย์ผู้สอนในหนึ่งห้องเรียนมากกว่าหนึ่งคน หรือวิชาที่สอนหลายกลุ่มและใช้ผู้สอนหลายคน อาจารย์ผู้สอนควรประชุมหารือร่วมกันว่าวิชาลักษณะนี้จะกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนอย่างไรและออกแบบการสอนอย่างไร ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ร่วมกันและแจ้งนักศึกษาเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนด้วย
  15. กรณีใช้การวัดและประเมินผลโดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics Score) เพื่อให้เกณฑ์ที่กำหนดมีความน่าเชื่อถือ ใช้ได้จริงถูกต้องแม่นยำ หากเป็นวิชาที่มีผู้สอนที่เป็นผู้กำหนดเกณฑ์เพียงคนเดียว สามารถนำเกณฑ์ที่กำหนดมาทดสอบก่อนนำไปใช้ โดยอาจประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตร หรือประชุมคณะกรรมการวิชาการร่วมกันเพื่อลองอ่านและแสดงความคิดเห็นต่อเกณฑ์การวัดและประเมินผลที่กำหนดไว้ว่า ครอบคลุมวัตถุประสงค์วิชา ครอบคลุม TQF 5 ด้านที่กำหนดใน Curriculum Mapping และสอดคล้องกับวิธีการเรียนการสอนหรือไม่ อย่างไร และเป็นเกณฑ์ที่ใช้ได้จริง นักศึกษาสามารถทำผลลัพธ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์ได้
  16. กรณีใช้การประเมินแบบผู้เรียนประเมินกันเองก็สามารถทำได้โดยการประเมินโดยใช้สมาชิกในกลุ่มประเมินกันเองเพื่อให้ค่าคะแนนในแต่ละฝ่ายมายืนยันหรือเอามาเป็นคะแนนเทียบเคียงกันกับการใช้ Rubrics Score ที่อาจารย์ผู้สอนเป็นผู้ประเมิน เพื่อเป็นการยืนยันการประเมินแบบให้คะแนนจากอาจารย์ผู้สอนอีกทางหนึ่ง โดยมีแนวทางที่น่าสนใจคือ เป็นการประเมินแบบลับ โดยอาจารย์ผู้สอนจะพิมพ์ชื่อกลุ่มให้กับนักศึกษา แต่มิได้ระบุรายชื่อว่าใครเป็นผู้ประเมิน  แต่จะระบุรายชื่อสมาชิกที่ถูกประเมิน ให้ผู้ประเมินได้ทำการประเมินตามช่องที่จะที่จะประเมิน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *