ภาพรวม
เกี่ยวกับคณะ
สาขาวิชา
ข่าวสารคณะ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อคณะ

รู้จักกับคณะนิเทศศาสตร์

คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรที่มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติและเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2558 มุ่งสู่การเป็นนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ จัดการเรียนการสอนหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตจำนวน 5 สาขาวิชา และนิเทศศาสตรมหาบัณฑิตจำนวน 2 สาขาวิชา โดยทุกหลักสูตรมีความทันสมัยก้าวทันการสื่อสารยุคดิจิทัลและสื่อออนไลน์ มุ่งเน้นคุณสมบัติบัณฑิตที่พึงประสงค์ ที่สามารถสร้างสรรค์และรู้เท่าทันสื่อ C-KASEM (Creative Communication and Media Literacy) ที่ตอบโจทย์บัณฑิตยุคดิจิทัลที่สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตนเอง หรือสามารถทำงานในสถานประกอบการตามความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ประวัติคณะนิเทศศาสตร์

คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คณะอินเทรนด์ยุคดิจิทัล เน้นการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สร้างนักนิเทศรุ่นใหม่ที่ผลิตสื่อได้ทุกแพลตฟอร์ม ติดอาวุธยุคดิจิทัลด้านกลยุทธ์แบบโดนใจเรียนรู้การเข้าถึงโลกทั้งใบด้วยการสื่อสารที่ทรงพลัง ฝึกปฏิบัติจริงกับนักวิชาชีพชั้นแนวหน้า ก้าวนำโลก ไม่ใช่หมุนตาม ถ้าคุณ คือ คนยุคใหม่ ที่นี่ตอบทุกความต้องการและนำคุณสู่ความสำเร็จในยุคไร้พรมแดน กว่า 3 ทศวรรษแห่งการพัฒนา เพื่อบ่มเพาะนักสื่อสารที่มีความรู้เชิงวิชาการ นำไปสู่การสร้างนักคิด นักผลิตและนักสร้างสรรค์ที่สามารถใช้สื่อได้ครบวงจรในทุกยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง

● ปี 2531 เปิดสอนหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต 2 สาขาวิชา 5 วิชาเอก ได้แก่
สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการโฆษณา วิชาเอกการประชาสัมพันธ์ และวิชาเอกการโฆษณา
สาขาวิชาการสื่อสารมวลชนและสื่อสารการแสดง วิชาเอกวิทยุและโทรทัศน์ วิชาเอกหนังสือพิมพ์
และวิชาเอกสื่อสารการแสดง

● ปี 2549 ปรับหลักสูตรใหม่เป็น 6 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์
สาขาวิชาสื่อสารการแสดงและสื่อสมัยใหม่ สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ สาขาวิชาการโฆษณา
สาขาวิชาเทคโนโลยีวารสารสนเทศ และสาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิตอล

● ปี 2550 เปิดสอนหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการสื่อสาร (Master of
Communication Arts Program in Communication Administration) 3 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่
การจัดการทางการสื่อสาร การบริหารงานสื่อสารมวลชน และการจัดการงานศิลปินและอุตสาหกรรมบันเทิง

● ปี 2554 ปรับปรุงหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตและปรับชื่อสาขาวิชาใหม่ 3 สาขาวิชา ได้แก่
สาขาวิชาสื่อสารการแสดงร่วมสมัย สาขาวิชาวารสารศาสตร์และสื่อใหม่ และสาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล

● ปี 2559 ปรับปรุงหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตและปรับชื่อสาขาวิชาใหม่ 6
สาขาวิชาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิทัล ได้แก่ สาขาวิชาวิทยุโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล
สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ สาขาวิชาการโฆษณา สาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล
สาขาวิชาสื่อสังคมออนไลน์และสารสนเทศดิจิทัล สาขาวิชาสื่อสารการแสดงร่วมสมัย
มุ่งเน้นคุณสมบัติบัณฑิตที่พึงประสงค์ ที่สามารถสร้างสรรค์และรู้เท่าทันสื่อ C-KASEM (Creative
Communication and Media Literacy) ที่ตอบโจทย์บัณฑิตยุคดิจิทัล

● ปี 2559 หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต
ได้พัฒนาหลักสูตรเปิดสอนในสาขาวิชาการบริหารนวัตกรรมการสื่อสาร (MCA) เป็นปีแรก
เพื่อสร้างนักบริหารนวัตกรรมทางนิเทศศาสตร์ที่ทันสมัย ซึ่งมีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน
ตอบสนองการสื่อสารทางเทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กรทุกประเภท

● ปี 2563 ปรับปรุงหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตใหม่เป็น 5 สาขาวิชา

  1. สาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล
  2. สาขาวิชาสื่อสารการแสดงร่วมสมัย
  3. สาขาวิชานวัตกรรมการสื่อสารองค์กรและแบรนด์
  4. สาขาวิชาวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อดิจิทัล
  5. สาขาวิชาสื่อสังคมออนไลน์และสารสนเทศดิจิทัล

ปณิธานคณะนิเทศศาสตร์

ปรัชญา (Philosophy)

การสื่อสารที่มีคุณภาพ คุณธรรม คุณค่า จะพัฒนาสังคม

ปณิธาน (Determination)

ผลิตนักนิเทศศาสตร์ให้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการสื่อสารและปฎิบัติงานอย่างมีคุณธรรมพร้อมนำสังคม

วิสัยทัศน์ (Vision)

คณะนิเทศศาสตร์เป็นคณะวิชาที่มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพเชิงรุกและสาขาจำเพาะ ด้านการสื่อสารและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตามความต้องการของประเทศและโลกอนาคต พัฒนางานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ผลิตงานสร้างสรรค์ นวัตกรรมการสื่อสารที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และรังสรรค์งานบริการวิชาการที่มูลค่าและคุณค่าเพื่อตอบโจทย์สังคม

พันธกิจ (Mission)

คณะนิเทศศาสตร์ มีพันธกิจ 4 ด้าน ประกอบด้วยการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ดังนี้

1. ด้านการผลิตบัณฑิต

มุ่งผลิตปฏิบัติให้เป็นนักปฏิบัติมืออาชีพเป็นนักนิเทศศาสตร์ในโลกดิจิทัลด้วยการจัดการเรียนการสอน ภายใต้ระบบและกลไกที่กำหนดในหลักสูตรที่หลากหลายและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทุกระดับรวมถึงมาตรฐานการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยเน้นให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ พัฒนานักศึกษาด้วยกิจกรรมวิชาการและอื่น ๆ เพิ่มสร้างประสบการณ์พร้อมสำหรับเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงเชื่อมโยงกับวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์

2. ด้านการวิจัย

ส่งเสริมการวิจัยและงานสร้างสรรค์ด้านการสื่อสารในทุกระดับ พัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้เกิดคุณค่าในสังคมและมูลค่าในเชิงพาณิชย์ เผยแพร่ผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ บูรณาการกับการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

3. ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม

ส่งเสริมการบริการทางวิชาการในทุกระดับของสังคมทั้งแบบให้เปล่าและมีรายได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งชุมชน ภาครัฐ เอกชน หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้งานบริการวิชาการมีผลกระทบและตอบสนองให้ทุกมิติ และบูรณาการกับพันธกิจด้านอื่น ๆ อย่างสมประโยชน์

4. ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

ส่งเสริม อนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา เผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมทั้งไทยและสากล ด้วยองค์ความรู้ด้านนิเทศศาสตร์เพื่อให้เกิดประโยชน์และการพัฒนาทั้งในระดับชุมชน ชาติ และนานาชาติ

อัตลักษณ์ (Identity)

“Innovative Start UP”

บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์เป็นผู้ดำรงชีวิตได้อย่างสมดุล บริหารจัดการ ยืดหยุ่นเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต ปรับตัวได้ดีต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม และมีทักษะคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดด้วยนวัตกรรม เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่หยุดพัฒนาตนเอง เรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้เท่าทันยุคสมัย มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้เชิงธุรกิจ การตลาด สามารถนำเอาหลักคิดไปผสมผสานกับศาสตร์เพื่อเข้าใจธุรกิจและองค์กร หรือเพื่อเป็นเจ้าของกิจกรรม ประกอบอาชีพอิสระ นอกจากนี้ยังปฎิบัติงานเชิงรุกอย่างมืออาชีพทางด้านนิเทศศาสตร์ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

 

อัตลักษณ์ Learning Outcome
Happy Life and Happy Work ดำรงชีวิตได้อย่างสมดุล บริหารจัดการยืดหยุ่นเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต ปรับตัวได้ดีต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม
Innovative คิดสร้างสรรค์ ต่อยอดด้วยนวัตกรรม เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่หยุดพัฒนาตนเอง เรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้เท่าทันยุคสมัย
Entrepreneur มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้เชิงธุรกิจ การตลาด สามารถนำเอาหลักคิดไปผสมผสานกับศาสตร์เพื่อเข้าใจธุรกิจและองค์กร หรือเพื่อเป็นเจ้าของกิจกรรม ประกอบอาชีพอิสระ
Proactive Professional in Communication Arts ปฎิบัติงานเชิงรุกอย่างมืออาชีพทางด้านนิเทศศาสตร์