ประวัติมหาวิทยาลัย
คณะผู้บริหาร
พันธมิตร
Green University

Kasem Bundit University

ประวัติมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตสถาปนาขึ้นโดยคณะผู้บริหารการศึกษาที่มีเจตนาอันแน่วแน่ในการร่วมพัฒนาประเทศด้วยการแบ่งเบาภาระของรัฐด้านการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยจัดตั้งโรงเรียนเกษมพิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และโรงเรียนเกษมโปลีเทคนิค ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แผนกพาณิชยการและช่างอุตสาหกรรมหลายสาขา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีนักเรียนและนักศึกษารวมประมาณ 7,500 คน และด้วยอุดมการณ์และปณิธานอันสูงนี้จึงได้จัดตั้ง วิทยาลัยเกษมบัณฑิต ขึ้นในปี พ.ศ.2530

ต่อมาในปี พ.ศ.2535 ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้วิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดยได้ดำเนินการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก จนถึงปัจจุบัน ดำเนินการบริหารงานและจัดการเรียนการสอนเป็น 2 วิทยาเขต คือวิทยาเขตพัฒนาการและวิทยาเขตร่มเกล้า ซึ่งเป็นวิทยาเขตที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2546 และดำเนินการจนถึงปัจจุบัน โดยวิทยาเขตร่มเกล้าเป็นการเปิดเพื่อขยายพื้นที่การศึกษา

มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรจำนวนทั้งสิ้น 53 หลักสูตร ระดับปริญญาตรี จำนวน 39 หลักสูตร ระดับปริญญาโท จำนวน 11 หลักสูตร ระดับปริญญาเอก จำนวน 3 หลักสูตร โดยมีการดำเนินการตามแผนพัฒนาการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิตเพื่อมุ่งเน้นให้บัณฑิตมีคุณค่า คุณธรรม คุณประโยชน์ ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยและเน้นให้เป็นนักปฏิบัติที่สามารถทำประโยชน์ แก่ตนเองต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มีดังนี้

1. เพื่อปลูกฝังนักศึกษาให้มีความรับผิดชอบต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของสังคมไทย และวัฒนธรรมอันดีของชาติ ให้รู้จักเคารพต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของตนต่อไป

2. เพื่อให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งมั่นสร้างความเป็นเลิศในทางวิชาการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และความสามารถสูงในสาขาอาชีพต่าง ๆ ให้ไปประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเชื่อมั่นในตนเอง รู้จักค้นคิด นำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์มาใช้ในการวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบ มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการเข้าร่วมแก้ไข และสร้างสรรค์ตนเอง อีกทั้งมีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาค้นคว้าวิทยากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของตน สามารถปรับตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

3. เพื่อให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มุ่งพัฒนาคุณภาพประชาชนโดยทั่วไป ขยายโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า และให้ผู้ที่ประกอบอาชีพได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มพูนวิทยฐานะ

4. เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐในการศึกษา เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐที่ประสงค์ให้ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนช่วยรัฐจัดการศึกษาและพัฒนาประเทศดังระบุไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

5. เพื่อให้มีการค้นคว้า วิจัย และเป็นสื่อนำความก้าวหน้าต่าง ๆ ไปสู่สังคมและให้การบริการทางวิชาการแก่ชุมชนเพื่อเป็นการรับใช้ และสร้างประโยชน์ต่อชุมชนโดยตรง

ปรัชญาของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

จุดแสงสว่างแห่งปัญญาระดับอุดมศึกษา
เพื่ออนาคตที่สดใสของนักศึกษา

ด้วยความปรารถนาอันมุ่งมั่น มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตได้ปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ได้แก่ การประสาทศิลปวิทยาการ การวิจัยค้นคว้า การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพเพียบพร้อม ด้วยปณิธาน 3 ประการ

คุณค่า ประกอบด้วยศิลปวิทยา สามารถคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจ

คุณธรรม ประกอบด้วยจริยธรรม มโนธรรม เคารพต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

คุณประโยชน์ ประกอบด้วยความเสียสละ พร้อมอุทิศตน เพื่อสร้างและพัฒนาสังคม

ปณิธานของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีปณิธานในการจัดการศึกษาขั้นสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพทรัพยากรบุคคลของประเทศ และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง ด้วยการบริการด้านวิชาการในด้านต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าและมั่นคงแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมในที่สุด

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ข้างต้น มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตจึงได้ประมวลทรัพยากรทั้งปวง เพื่อดำเนินภารกิจหลักของการอุดมศึกษาให้ครบถ้วน พร้อมด้วยกระบวนการประกันคุณภาพทั้งในด้านวิชาการและการให้บริการแก่นักศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อประสิทธิผลในการดำเนินกิจการ และเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป

มหาวิทยาลัยมีความเชื่อมั่นว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตแห่งนี้ มีความเพียบพร้อมด้วย คุณค่า คุณธรรม คุณประโยชน์ ซึ่งเป็นปณิธานของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในการจัดการศึกษาเพื่อให้บัณฑิตทั้งปวงเป็นมรดกที่มีคุณค่าของสังคมสืบไป

วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

“มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของมหาวิทยาลัยเอกชนไทยในกลุ่มที่มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะในปี พ.ศ.2569 สามารถต่อยอดและสร้างคุณค่าให้แก่สังคม มีผลผลิตที่เป็นบุคลากรมืออาชีพเชิงรุกตามความต้องการของประเทศและโลกอนาคต พัฒนางานวิจัยและรังสรรค์งานบริการวิชาการ ที่ตอบโจทย์สังคม”

พันธกิจของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

1. ด้านผลลัพธ์ผู้เรียน ผลิตบัณฑิตให้เป็นบุคลากรมืออาชีพเชิงรุกที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญขั้นสูงในวิชาชีพ

2. ด้านการวิจัยและนวัตกรรม สร้างผลงานวิจัยคุณภาพระดับสูงที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ ได้รับการอ้างอิง และใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์

3. ด้านการบริการวิชาการ สร้างผลงานบริการวิชาการเชิงบูรณาการจากฐานวิจัยที่มีผลกระทบต่อสังคม ผลลัพธ์ของการบริการวิชาการนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของชุมชน สังคม และประเทศชาติ

4. ด้านศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทย อนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ สร้างองค์ความรู้สู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

5. ด้านการบริหารจัดการ บริหารจัดการเชิงรุกด้วยหลักธรรมาภิบาล

เอกลักษณ์และอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

เอกลักษณ์

มหาวิทยาลัยกำหนดเอกลักษณ์ตามจุดเน้น จุดเด่น หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะของมหาวิทยาลัยในด้านการเรียนรู้แบบพหุลักษณ์ คือ การศึกษาและสร้างความเข้าใจต่อเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนให้ถูกต้อง และการเรียนรู้พหุวัฒนธรรม คือ การศึกษาวัฒนธรรมที่หลากหลายของท้องถิ่นต่าง ๆ ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและมีความสุข ให้มีความรัก สามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

อัตลักษณ์

“บัณฑิตเกษมบัณฑิตพร้อมเป็นมืออาชีพสำหรับโลกอนาคต” อัตลักษณ์ เป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นตัวตนของมหาวิทยาลัย ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย หรือลักษณะโดดเด่นของสถานศึกษา เน้นที่การกำหนดภาพความสำเร็จในตัวผู้เรียน ที่ประกอบด้วยทักษะที่จำเป็น ต่อการเป็นมืออาชีพเฉพาะวิชาชีพ ดังนี้

– ด้านการสื่อสารและใช้เครื่องมือดิจิทัล

– ด้านคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม

– ด้านความซื่อสัตย์ และมีจิตสำนึก

– ด้านการคิดเชิงบวก และคิดแบบยืดหยุ่น

– ด้านดำรงชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ มีความสุข (มีสุขภาวะทางสังคม)

– ด้านแสวงหาความรู้ตลอดเวลา และเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา