KM ด้านการวิจัย 2564
สรุปความรู้จากการจัดโครงการ KM ปีการศึกษา 2564 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จัดโครงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประจำปีการศึกษา 2564 (Knowledge Management: KM) ณ ห้องประชุม KM คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่มเกล้า/ห้องประชุม MsTeam
ด้านการวิจัย: เรื่อง “แนวทางการเข้าถึงแหล่งทุนและการเขียนข้อเสนอวิจัยเพื่อขอทุนจากแหล่งทุนภายนอก” (ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 – วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2565)
มีวิทยากรแบ่งปันความรู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ในหัวข้อนี้ ดังนี้ (1) อ.วนิทรา ตะเภาทอง (หัวหน้าโครงการ Young Do: ทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปีการศึกษา 2564) (2) อ.พสุนาท สร้อยสุวรรณ (นักวิจัยโครงการ การขับเคลื่อน และผลักดันงานวิจัย ชุดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปี 2563 สู่การใช้ประโยชน์ : ทุนสำนักประสานงานโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปีการศึกษา 2563) (3) ผศ.สิริวิมล เทพหัสดิน (หัวหน้างานวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารเพื่อรู้เท่าทันสื่อลวง (พนันออนไลน์) ทุน สสส. ปีการศึกษา 25 63 / งานวิจัย โครงการจัดทำและพัฒนาปรับปรุงมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยและมาตรฐานการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 : ทุนกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ปีการศึกษา 2560) (4) ผศ.ดร.พิเชษฐ พิมพ์เจริญ (นักวิจัยโครงการวิจัย เรื่องการเดินและการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ ทำร่วมกับ ผศ.ดร.ต่อตระกูล อุบลวัตร : ทุนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ) สรุปความรู้ที่ได้คือ
1) การวิจัยเพื่อขอทุนจากหน่วยงานภายนอก สามารถเขียนโครงการโดยบูรณาการกับการบริการวิชาการได้
2) การเขียนข้อเสนอวิจัย (Proposal) ในการขอทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานภายนอกสามารถใช้รูปแบบการทำโครงการบริการวิชาการและพัฒนานักศึกษาไปด้วยได้ โดยมีการทำกิจกรรมการสื่อสารร่วมด้วย เช่น การอบรมผลิตสื่อ การผลิตหนังสั้น ภาพยนตร์และสื่อรณรงค์ประเภทต่างๆ และมีการทำสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (บูรณาการการวิจัย การบริการวิชาการและการพัฒนานักศึกษา)
3) กรณีแหล่งทุนที่ไม่ได้เป็นองค์การ/หน่วยงานด้านนิเทศศาสตร์โดยตรงเวลายื่นขอทุนสามารถกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยที่เกี่ยวข้องด้านนิเทศศาสตร์เข้าไปร่วมด้วยได้ เช่น โครงการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ของกรมการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยว ก็เพิ่มเรื่องมาตรฐานด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เข้าไป
4) การเข้าถึงแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัย จะมีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding) สามารถเข้าไปในเว็บไซต์ของหน่วยงาน ซึ่งจะมีประกาศแต่ละช่วงเวลา แล้วดูให้สอดคล้องกับความถนัดและความสามารถ โดยวิธี e-bidding หน่วยงานจะมีราคากลางพิจารณา หากเราสนใจจะทำโครงการนี้ที่มีการว่าจ้างหรือให้ทุน ก็จะต้องเสนอราคากลางคือมีการทำข้อเสนอราคาของเราเหมือนกับการประมูล ทั้งนี้ ต้องพิจารณา TOR ประกอบด้วย
5) การกำหนดคุณสมบัติของที่ปรึกษา และผู้ที่อยู่ในทีมของการวิจัย หรือโครงการ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะกำหนดชัดเจนในประเด็นต่างๆ ว่า จำนวนผู้เชี่ยวชาญกี่ท่าน หัวหน้าโครงการกี่ท่าน ใช้ระยะเวลาในการทำงานกี่เดือน วุฒิการศึกษาต้องไม่ต่ำกว่าวุฒิอะไร ต้องมีผลงานและความเชี่ยวชาญสาขาอะไร มีประสบการณ์ในการทำเกี่ยวกับงานด้านนี้มาแล้วกี่ปี เจ้าหน้าที่ในโครงการกี่คน จะต้องมีคุณสมบัติอะไร วุฒิอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ผู้ขอทุนต้องมีข้อมูลนี้ก่อนเขียนข้อเสนอขอทุน
6) เว็บไซต์ที่มีประกาศให้ทุนจากหน่วยงานภายนอกส่วนใหญ่จะมีทุกปี เราต้องวางแผนติดตามประเด็นที่องค์การ/หน่วยงานให้ทุนจะกำหนดมาหลายประเด็น นอกจากต้องเลือกประเด็นที่เราถนัดที่สุดแล้วต้องเชื่อมโยงกับศาสตร์ด้านนิเทศศาสตร์ให้ได้ด้วย
7) การจัดทำข้อนำเสนอ (Proposal) เหมือนกับการเขียนโครงร่างทั่วๆ ไป เมื่อจัดทำเสร็จแล้วส่งไปให้พิจารณาในเบื้องต้นก่อน จากนั้นขั้นตอนการเสนอจะเป็นการกรอกแบบฟอร์มส่งไปรษณีย์
8) การขอทุนจากหน่วยงานภายนอกสามารถทำร่วมกับทีมต่างสถาบันได้
9) ประเภทแหล่งทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ (1) ทุนวิจัยในหัวข้อที่สามารถพัฒนาไปในทางเชิงนโยบายได้ (2) งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่
10) การขอทุนวิจัยทางนิเทศศาสตร์สามารถทำวิจัยแฝงกับการผลิตและสร้างสรรค์สื่อปลอดภัย ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดวิจัยแต่ถนัดผลิตสื่อ โดยต้องอาศัยทีมที่เชี่ยวชาญการวิจัยมาร่วมด้วย ผลที่ได้คือได้เรียนรู้การผลิตสื่อ ได้เรียนรู้การทำวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ
11) ควรมีเทคนิคและลีลาการเขียนข้อเสนอวิจัย (Proposal) ที่น่าสนใจ มีการจัดระเบียบข้อมูลต้องมีแกนเชื่อมโยง (ผู้รับผิดชอบทำข้อนำเสนอ (Proposal) ทั้งรูปแบบ Paper และ power point สวยงาม ซึ่งในการนำเสนอกรรมการบางท่านดูเปเปอร์ กรรมการบางท่านดู power point ด้วยจึงต้องคำนึงถึงการเขียนเอกสารเพื่อนำเสนอโครงร่างการวิจัยด้วย
12) แนวโน้ม (Trend) เป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีโครงการใดที่ดีที่สุด มีแต่ใช่กับตอบโจทย์สังคมในขณะนั้น จึงต้องดูแนวโน้ม หรือกระแสว่าช่วงนั้นๆ ประเด็นอะไรเป็นที่น่าสนใจน่าจับตามอง จากนั้นขอทุนให้ตรงกับยุทธศาสตร์ของหน่วยงานและแนวโน้มทางสังคมที่เกิด่ขึ้น
13) สำคัญที่สุดที่คณะกรรมการเน้นย้ำคือ การตั้งชื่อโครงการ เป็นโครงการสร้างเสริมศักยภาพระยะยาวได้ แต่ควรจะมีชื่อกระชับ โดนใจ ซึ่งอาจตั้งเป็น key message หรือ slogan ก็ได้ เช่น โครงการ “Do Young 10 ส่งต่อ 10” เพื่อสร้างอาสาสมัครดิจิทัลในการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถด้านสื่อดิจิทัลให้กลุ่มผู้สูงอายุ
14) บางแหล่งทุนจะแจ้งไว้ว่า ข้อเสนอเทคนิคที่จะต้องนำมาทำให้สอดคล้องกับ TOR จะมีคะแนนในการพิจารณา 100 คะแนน 60% คือคุณสมบัติของที่ปรึกษา วุฒิประสบการณ์ ผลงาน จำนวนบุคลากร หลักฐานทุกอย่าง ปริญญาบัตร งานผลงานที่กล่าวอ้างว่าทำอะไรบ้าง ต้องส่งหลักฐานให้แหล่งทุนทั้งหมด ส่วนอีก 40% คือข้อเสนอเทคนิคที่เขียนให้สอดคล้องกับ TOR
15) การเขียนวัตถุประสงค์ของงานวิจัย ต้องบอกตัวแปรที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจนในแต่ละข้อ เช่น ทัศนคติและพฤติกรรม และการอธิบายระเบียบวิธีวิจัยต้องให้ชัดเจนทุกขั้นตอนการทำวิจัย เช่น จะเลือกกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ ในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง อันนี้คือเกณฑ์เขามีความสอดคล้องกับเกณฑ์ในพัฒนาโครงการขับเคลื่อนประเด็นใดบ้าง พื้นที่ดำเนินโครงการทำให้ชัดเจนก็คือกลุ่มประชากรนั่นเอง การเขียนแผนการดำเนินงานและกิจกรรมเหมาะสมหรือไม่ สามารถตอบวัตถุประสงค์ได้เพียงใด และมีช่วงระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจน
16) จุดเด่นที่ทำให้ผ่านการพิจารณาและได้รับทุน คือ การนำนักศึกษามามีส่วนร่วมในโครงการด้วย โดยเขียนในลักษณะว่านศ.จะได้รับความรู้ และทักษะในกระบวนการ วิจัยและบริการวิชาการตั้งแต่ต้นจนจบ คือเป็นการนำโครงการวิจัยมาบูรณาการกับการเรียนการสอนในรายวิชาที่เปิดสอนนั่นเอง