KM ด้านการวิจัย 2565
สรุปความรู้จากการจัดโครงการ KM ปีการศึกษา 2565 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จัดโครงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประจำปีการศึกษา 2565 (Knowledge Management: KM) ณ ห้องประชุม KM คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่มเกล้า จำนวน 2 เรื่อง คือ
1. KM ด้านการเรียนการสอน/ผลิตบัณฑิต เรื่อง การพัฒนาการสอนแบบ“Teaching Less, Learning More: การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างนักวิชาชีพเชิงรุกทางนิเทศศาสตร์” ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565-26 มกราคม 2566
2. KM ด้านการวิจัย เรื่อง “ แนวทางการจัดทำวารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต” ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2565 – 31 มกราคม 2566
KM ด้านการวิจัย เรื่อง “การจัดทำวารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต”
ความรู้เรื่องการจัดทำวารสารวิชาการและการเป็นผู้เชี่ยวชาญประเมินบทความในวารสารฯ
- การเชิญผู้เชี่ยวชาญ(Peer Review) อ่านประเมินบทความวิจัยและ/หรือบทความวิชาการ (Peer Review) จะได้รับการเชิญจากกรรมการของวารสารฯ เป็นการเชิญด้วยลายลักษณ์อักษร มีจดหมายเชิญและส่งสำเนาบทความให้พิจารณา พร้อมมีแบบฟอร์มสำหรับให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการ ได้เขียนข้อเสนอแนะให้กับผู้เขียนและเรียบเรียงแนบมาพร้อมกัน
- การอ่านประเมินบทความจะมีการเสนอแนะในส่วนต่างๆ ของบทความ เช่น บทความวิชาการ จะพิจารณาในส่วนของการเรียบเรียง การนำเสนอองค์ความรู้ ประกอบกับการนำเสนอในส่วนต่างๆ เช่น ที่มาและความสำคัญของปัญหา บทนำเนื้อหา หากเป็นบทความวิจัย จะพิจารณาประกอบตามรูปแบบการจัดทำ Proposal งานวิจัยในแบบย่อ
- ระบบบริหารจัดการกองบรรณาธิการวารสารฯ ในปัจจุบันใช้ระบบออนไลน์ (online) เข้ามาช่วยในการพิจารณาอ่านบทความมากขึ้น โดยทางวารสารจะส่งบทความให้อ่านประเมินผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่การสอบถามความประสงค์ในการเป็นผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการ (Peer Review) หากประสงค์จะอ่านพิจารณาบทความก็ให้ทำการตอบรับในระบบ (accept) ไป จากนั้นระบบจะนำสู่ขั้นตอนต่อไป คือ ให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการได้ดาวน์โหลด (download) บทความตามรายชื่อที่ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความจะต้องพิจารณาส่งมาให้
- ระบบจะแจ้งให้ทราบด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการมีระยะเวลาในการอ่านพิจารณาบทความเป็นระยะเวลาเท่าใด เช่น 1 บทความให้เวลาในการพิจารณา 30 วัน (1 เดือน) หากผู้อ่านไม่สามารถดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ กรรมการจะส่งเรื่องยกเลิกกลับไปเพื่อทำการตัดรายชื่อผู้อ่าน
- ในระบบการประเมินวารสารฯ ออนไลน์จะมีขั้นตอนให้ผู้ประเมินเห็นว่า ขณะนี้บทความที่ส่งตีพิมพ์นั้นอยู่ในขั้นตอนใด เช่น รับวารสารในวันใด อยู่ระหว่างดำเนินการอ่าน อยู่ระหว่างการแก้ไข ไปจนถึงกระบวนการสุดท้าย ก็จะสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการทำงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- การอ่านพิจาณาบทความในฐานะผู้ประเมินฯ หากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมแก่ผู้เขียนผู้อ่านสามารถทำไฟล์เอกสารแนบเพิ่มเติมให้ได้ โดยทำลงในแบบประเมินที่วารสารแต่ละเล่มได้แนบไว้ให้ เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นเรียบร้อยก็จะทำการ Submit กลับไปยังกรรมการวารสารเล่มนั้นๆ ต่อไป ว่าบทความดังกล่าวจะสามารถตีพิมพ์ได้หรือไม่ โดยระบบที่ตอบกลับไปก็จะแจ้งให้ทราบว่าเราดำเนินการสำเร็จ และขอบคุณสำหรับอ่านพิจารณา (review) โดยระบบนี้จะเป็นทั้งภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ระบบในการบริหารจัดการนั้นจะเหมือนกันทุกที่ เป็นโปรแกรมของ TCI จะมีการทำตามขั้นตอนเหมือนกัน
- การอ่านพิจารณาบทความจะใช้ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการ (Peer Review) 3 คน โดยใช้เกณฑ์พิจารณาการได้ตีพิมพ์ คือ 2 ใน 3 เช่น หากผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความ 2 ใน 3 พิจารณาตัดสินแล้วว่าไม่ควรตีพิมพ์ กรรมการก็จะปฏิเสธตีพิมพ์บทความนั้นไป
- การประเมินบทความของวารสารวิชาการแต่ละเล่มอาจมีวิธีการแตกต่างกัน แต่ใช้ผ่านระบบประเมินของ ThaiJo เหมือนกันโดยผู้ประเมินดำเนินการตามระบบได้ด้วยตนเอง แต่หากไม่สะดวก ทางทีมงานจะมีผู้ดูแลอำนวยความสะดวกให้
- เกณฑ์การประเมินจะใช้เป็นระดับ 5 ระดับ และมีตัวบ่งชี้ (Criteria) 13 ตัว (บางสถาบัน/หน่วยงาน) เมื่อผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความแล้ว จะมีแบบฟอร์มให้ประเมินในส่วนต่างๆ เช่น ชื่อเรื่อง บทคัดย่อ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ฯลฯ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากแบบฟอร์มประเมิน 5 ระดับที่กำหนดมาแล้ว ยังมีการประเมินเชิงคุณภาพด้วย โดยให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความแสดงความคิดเห็นว่าส่วนใดของผลงานที่ควรแก้ไขหรือปรับปรุง แต่จะประเมินในภาพรวมเพื่อให้ผู้เขียนและเรียบเรียงได้แก้ไขตามข้อเสนอแนะเอง
- ส่วนสุดท้ายจะให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความพิจารณาว่า 1) submission โดยไม่แก้ไข 2) ผู้แต่งแก้ไข โดยให้บรรณาธิการพิจารณา 3) ให้ผู้แต่งแก้ไข แล้วส่งกลับมาให้พิจารณาอีกครั้ง 4) ผลงานไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของวารสาร ให้ผู้แต่งส่งไปเล่มอื่น และ 5) ไม่รับตีพิมพ์บทความ
การเป็นผู้เขียนบทความลงวารสารฯ ผ่านระบบ ThaiJo
- วารสารส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่าย ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน/หน่วยงานเป็นผู้กำหนด
- ค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่ตีพิมพ์บางสถาบัน/หน่วยงานจะไม่เท่ากันกรณีเป็นคนใน-คนนอก
- การส่งบทความเพื่อเผยแพร่ตีพิมพ์ ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่วารสารฯ นั้นๆ กำหนด
- การเขียนบทความส่งระบบการจัดการวารสารออนไลน์ (Thai Journals Online System :ThaiJo) ขณะที่ผู้เขียนอยู่ในขั้นตอนของการส่งบทความและติดตามความคืบหน้า ต้องเข้าทำในระบบนั้นๆ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้าบทความของตนเอง ซึ่งจะต้องอยู่ในกระทู้เดิม เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสื่อสารกับผู้ประสานงานวารสารฯ
- กรณีบทคัดย่อ (Abstract) เป็นภาษาอังกฤษ จะต้องผ่านการตรวจสอบการใช้ภาษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษและมีการลงชื่อรับรองกำกับมาด้วย ทั้งนี้ ผู้เขียนจะต้องจัดทำเอกสารอ้างอิงคุณสมบัติของผู้อ่านพิจารณาบทคัดย่อแนบมาด้วยว่าเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษด้านใด
- การตรวจสอบความถูกต้องด้านภาษาอังกฤษโดยผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษในศาสตร์นั้นๆ จะเป็นเกณฑ์ที่กองบรรณาธิการกำหนดไว้ เนื่องจากกองบรรณาธิการอาจไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษในการตรวจสอบจุดนี้ เพราะหากตีพิมพ์ออกไปแล้วมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น อาจทำให้วารสารได้รับความเสียหาย และขาดความน่าเชื่อถือได้ ถือเป็นเกณฑ์การบริหารจัดการภายในที่ผู้เขียนและผู้เรียบเรียงทุกท่านต้องปฏิบัติตาม ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีของเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าว ที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงมาคัดกรองและตรวจสอบ ในขณะที่บางวารสารจะเป็นหน้าที่ของ peer review เป็นผู้ตรวจสอบด้วย
- การส่งบทความผ่านระบบออนไลน์บางสถาบัน/หน่วยงาน บทความจะไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน จะส่งแยกส่วนโดยมีแบบฟอร์มออนไลน์ให้กรอกในหน้าแรกเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เขียน คือ ชื่อ-นามสกุล โดยแยกออกจากตัวบทความ เพื่อส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการ (Peer Review) เมื่อส่งทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว (Submit) เรียบร้อย หลังจากนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 วัน ในการพิจารณาครั้งแรก โดยยังไม่ต้องชำระเงินค่าเผยแพร่บทความ ซึ่งในกระบวนการนี้ กองบรรณาธิการจะพิจารณาบทความก่อนว่าพอจะตีพิมพ์ได้หรือไม่ โดยยังไม่ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความ หากสามารถตีพิมพ์ได้จะตอบรับกลับเพื่อแจ้งกำหนดการชำระเงิน หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความอ่านงาน โดยใช้เวลา 90 วัน (3 เดือน) หากผ่านในกระบวนการนี้ ก็จะมีการปรับแก้ตามข้อเสนอแนะ
- การแก้ไขบทความนั้น ผู้เขียนต้องดำเนินการในระบบเช่นกัน โดยจะเป็นรูปแบบให้แก้ไขใน Microsoft Word ในลิงค์เดิมที่ได้ทำการสมัครไว้ ทั้งหมดจะเป็นการแก้ไขใน Software ผ่านระบบ ฉะนั้น ผลงานของเดิมก็จะยังคงอยู่ และของใหม่ที่แก้ไขก็จะถูกบันทึกไว้เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าผู้เขียนได้ทำการแก้ไขผลงานตามข้อเสนอแนะจริง ในการตอบนั้นก็จะมีการตอบใน Scholar1 โดยลิงค์กับ E-mail ที่ให้ไว้
- การแก้ไขในส่วนต่างๆ ของบทความนั้น ผู้เขียนจะต้องทำการแก้ไขเอง ไม่ว่าจะเป็นคำถูกคำผิด บทคัดย่อ ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้ผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความจะไม่ทำการแก้ไขมาให้ หากแต่จะระบุในว่าจะต้องแก้ไขอย่างไรในจุดใด โดยผู้เขียนและเรียบเรียงจะต้องทำการแก้ไขตามข้อเสนอแนะเองทั้งหมด
แนวปฏิบัติในการจัดทำวารสารวิชาการ ผ่านระบบ ThaiJO
- แนวปฏิบัติในการจัดทำวารสารวิชาการวิชา ควรมีคณะทำงานที่ปฏิบัติหน้าที่ จัดการประชุม คัดเลือกบทความ พิจารณาคัดผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการ (Peer Review) โดยในการพิจารณานั้นไม่ตายตัวว่าผู้เชี่ยวชาญท่านใดจะมาพิจารณา ทั้งนี้ คณะทำงานสารมารถหารือกันเพื่อคัดเลือกว่าผู้เชี่ยวชาญท่านใดจะมาพิจารณาอ่านบทความนั้นๆ โดยพิจารณาจากความเชี่ยวชาญของผู้เชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับเนื้อหาในบทความเป็นหลัก จากนั้นจึงเชิญมาพิจารณาบทความ ทำหนังสือเชิญ ทาบทาม ประสานงาน ออกแบบประเมินผลงาน ส่งบทความให้ผู้เชี่ยวชาญอ่าน ติดตามความคืบหน้า เขียนบทบรรณาธิการ ตรวจงาน ส่งไฟล์ให้สำนักพิมพ์เตรียมพิมพ์ ดังนั้นจึงควรมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาก่อนว่าใครจะรับหน้าที่อะไร บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ ทีมผลิต ผู้ดูแลระบบ ทีมรับผิดชอบในส่วนต่างๆ ฯลฯ โดยแบ่งหน้าที่การทำงานให้ชัดเจน
- กองบรรณาธิการวารสารฯ ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลเฉพาะ ปฏิบัติงาน 1 คน เป็นตัวหลักในการดำเนินงาน
- บุคลากรในการทำงานสำคัญมาก ควรเป็นบุคลากรที่ทำหน้าที่นี้โดยตรง การดำเนินการใช้ช่วงแรกอาจผ่านพ้นไปได้ แต่เมื่อมองถึงความต่อเนื่องแล้วอาจจะไม่บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ในการจัดทำวารสารวิชาการเกษมบัณฑิคนั้น จะมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดูแลหลัก โดยเป็นผู้จัดหน้าผ่าน Template วารสาร และเป็นบุคลากรคนเดียวทีดำเนินงานทั้งกระบวนการ
- ระบบบริหารจัดการวารสารนั้น ในความเป็นจริงแล้วสามารถใช้ระบบของที่ใดก็ได้ แต่การใช้ระบบบริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Journal Online : THAIJO) จะช่วยให้การทำงานเป็นระบบภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และมีการบันทึกและรักษาฐานข้อมูลบทความเก็บไว้ด้วย หากคณะผลักดันให้มีวารสารวิชาการ อาจต้องมีการซื้อระบบมาใช้งานซึ่งน่าจะมีคุณภาพที่ดีและมีความปลอดภัยในการชัยงานมากกว่า
- การจัดทำวารสารของคณะต้องดำเนินการจดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) เพื่อที่จะให้เป็นที่ทราบว่าคณะได้จัดทำให้มีงานวารสารนี้เกิดขึ้น เป็นรายเดือน รายปักษ์ ฯลฯ เมื่อได้ในส่วนนี้แล้วจึงจะดำเนินการประสานกับ ThaiJo เพื่อเข้าร่วมอบรมการใช้งานระบบ หลังผ่านอบรมแล้ว จึงสมัครเพื่อเช่าซื้อระบบ แต่ทั้งนี้ควรจะมีบทความรอที่จะตีพิมพ์อยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า หรือสิ้นเปลืองเวลาโดยเปล่าประโยชน์
- บุคลากรที่ไปอบรมการใช้ระบบ ThaiJo นั้น ควรจะเป็นบุคคลเดียวกันที่จะดำเนินการในส่วนนี้เป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการทำงาน และทำงานได้อย่างราบรื่น
- การทำงานวารสารวิชาการเป็นการทำงานที่แข่งกับเวลา เช่น กำหนดให้วารสารมีวาระการตีพิมพ์ 6 เดือน แต่พอครบกำหนดแล้วยังไม่ตีพิมพ์ TCI อาจปรับให้วารสารนั้นตกฐาน เนื่องจากตีพิมพ์ไม่ตรงตามกำหนดเวลา อีกทั้งจำนวนการตีพิมพ์ สัดส่วนบทความภายในและภายนอกก็ค่อนข้างเคร่งครัดโดยมีการตรวจ โดยให้มีสัดส่วน 60:40 แต่ไม่ได้กำหนดว่าควรจะตีพิมพ์กี่เรื่อง
- ควรจัดทำประวัติผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการ (Peer Review) ประจำ เพื่อเป็นฐานข้อมูลว่าแต่ละท่านนั้นเชี่ยวชาญในสาขาใด เช่น สื่อสารออนไลน์ สื่อสารมวลชน สื่อสารการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เพื่อพิจารณาคัดสรรบทความที่ตรงกับความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความได้พิจารณาต่อไป และหากเกิดกรณีที่ต้องหาคนแทนจะได้ไม่เกิดปัญหา
- ในการผลักดันให้เกิดวารสารวิชาการ หากจะดำเนินการให้รวดเร็วที่สุดนั้น ควรมีบทความที่ผ่านการผู้เชี่ยวชาญอ่านประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการ (Peer Review) พร้อมตีพิมพ์อยู่ในคลังแล้ว หลังจากนั้นจึงไปขอจดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ หรือ ISBN ใช้เวลาประมาณ 2-3 วันทำการ เพื่อที่จะสามารถรันในระบบได้ต่อ หลังจากที่ผ่านการอบรม และเช่าซื้อระบบแล้ว
การเตรียมความพร้อมและแนวปฏิบัติในการจัดทำวารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ ผ่านระบบ ThaiJO
- ทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานผู้รับผิดชอบการจัดทำวารสารวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
- คณะทำงานมีหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์ วางแผนการจัดทำวารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ให้บรรลุเป้าหมาย กำหนดรูปแบบวารสารให้เป็นไปตามเกณฑ์ เสนอและจัดทำคำสั่ง/ประกาศแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอ่าน พิจารณาประเมินบทความ กองบรรณาธิการ และ/หรือผู้เกี่ยวข้องกรณีมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง/ประกาศที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการจัดทำวารสารฯ ในทุกขั้นตอนให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- คณะทำงานหารือร่วมกันเพื่อวางแผน กำหนดบุคลากรผู้รับผิดชอบ ส่งไปอบรมการจัดทำวารสารผ่านระบบออนไลน์ (ThaiJo)
- คณะทำงานประชาสัมพันธ์ให้อาจารย์รับทราบเพื่อขอให้เตรียมเขียนบทความวิชาการ บทความวิจัยลงในวารสารฉบับแรก
- ประธานคณะทำงานมอบหมายรองประธานและคณะทำงานเพื่อประสานติดต่อขอความอนุเคราะห์เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลภายนอกมาเป็นกองบรรณาธิการภายนอก
- คณะทำงานสอบถามแนวทางการจัดทำวารสารออนไลน์จากผู้เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัย