KM ด้านการเรียนการสอน 2565
สรุปความรู้จากการจัดโครงการ KM ปีการศึกษา 2565 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จัดโครงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประจำปีการศึกษา 2565 (Knowledge Management: KM) ณ ห้องประชุม KM คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่มเกล้า จำนวน 2 เรื่อง คือ
1. KM ด้านการเรียนการสอน/ผลิตบัณฑิต เรื่อง การพัฒนาการสอนแบบ“Teaching Less, Learning More: การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างนักวิชาชีพเชิงรุกทางนิเทศศาสตร์” ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565-26 มกราคม 2566
2. KM ด้านการวิจัย เรื่อง “ แนวทางการจัดทำวารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต” ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2565 – 31 มกราคม 2566
KM ด้านการเรียนการสอน/ผลิตบัณฑิต
เรื่อง การพัฒนาการสอนแบบ“Teaching Less, Learning More: การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างนักวิชาชีพเชิงรุกทางนิเทศศาสตร์
การสอนแบบ Teaching Less, Learning More เป็นอย่างไร ทำไมต้องทำ และทำอย่างไร
- ความสำคัญที่อาจารย์ผู้สอนต้องพัฒนาการสอนแบบ สอนแบบ Teaching Less, Learning More: เนื่องจาก นโยบายมหาวิทยาลัย แผนยุทธศาสตร์คณะ ความต้องการผู้เรียนเปลี่ยนไป ความต้องการตลาดแรงงานด้านนิเทศศาสตร์เปลี่ยนไป
- การสอนแบบ Teaching Less, Learning More เป็นส่วนหนึ่งของ Active Learning ที่เน้นกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ความคิดมากกว่าท่องจำ มีทักษะสามารถนำเนื้อหาที่เรียนไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหา สร้างสิ่งใหม่ วิเคราะห์บริบทสังคมที่เกิดขึ้นจากแนวคิด ทฤษฎีที่ได้ศึกษาไปได้
- การสอนแบบ Teaching Less, Learning More ผู้สอนต้องปรับวิธีการสอน เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ เน้นผลลัพธ์ที่จะเกิดกับผู้เรียนมากขึ้น สอนเนื้อหาที่สำคัญจำเป็นแต่ให้เกิดผลลัพธ์กับผู้เรียนให้มากขึ้น ผู้สอนจะต้องออกแบบวิธีการเรียนการสอนที่จับต้องได้ ทำได้จริงและได้ผล
- การสอนแบบ Teach Less, Learn More เป็นแนวคิดการจัดการศึกษาที่เน้นทักษะการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้ ความคิด ประสบการณ์ตนเองได้ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดีขึ้นและเป็นการเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตของผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้และเกิดทักษะการคิดเพื่อพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ผู้เรียนสามารถคิด สร้างสรรค์ วิเคราะห์ แก้ปัญหามีแรงกระตุ้นที่สนใจอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
- การพัฒนาแผนการสอน อาทิ ระบุโครงการ/กิจกรรม ที่จะนำรายวิชาที่สอนไปใช้เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้ชัดเจน ระบุรายละเอียดกิจกรรมที่จะให้นักศึกษาได้ใช้ฝึกปฏิบัติอย่างชัดเจน เน้นการเรียนการสอนที่นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบการสอนด้วย อาจารย์และนักศึกษาช่วยกันระดมความคิดและสรุปผลการเรียนรู้จนได้ผลลัพธ์ออกมา ไม่ใช่อาจารย์เป็นฝ่ายสรุปเพียงฝ่ายเดียว ควรให้มีลักษณะการเรียนรู้และรูปแบบกิจกรรมแบบเรียนรู้เดี่ยวและกลุ่มเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันกับนักศึกษา
ประสบการณ์การสอนแบบ Teaching Less, Learning More และการกำหนดกิจกรรมเด่นๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
- การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้: ใช้ google classroom ทำให้เห็น feedback นศ.
- เน้นปฏิบัติฝึกทักษะการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนให้ “อ่านให้เป็น เขียนต่อให้ได้ ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์” รวมถึงใช้สื่อใหม่ประกอบ เช่น ยูทูป คลิปวีดิโอ
- เรียนแบบผสมผสาน “เชื่อมโยงการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน ในตำรา โลกประสบการณ์จริง เน้นการตั้งคำถามโดยผู้เรียน ”
- เน้นผลิตจริงมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ปฏิบัติ+เรียนรู้จริง ทำจริง เปลี่ยนบรรยากาศเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้บ้าง
- เน้นสร้างบรรยากาศการเรียนให้สนุก ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน -ผู้เรียนกับผู้สอน เดินไปด้วยกัน – game, my map
- เรียนรู้ร่วมกันผ่านพี่เลี้ยง (ผู้สอน-เพื่อนช่วยเพื่อน)
- เน้นสนุก สร้างความกล้า ดึงความเป็นตัวตนผู้เรียน ให้ความมั่นใจ ระเบิดออกมาจากข้างใน เน้นใช้อุปกรณ์จริง
วิธีการวัดผลเมื่อสอนแบบ Teaching Less, Learning More
- ควรใช้วิธีวัดผลที่แตกต่างหลากหลาย โดยพิจารณาตัวแปรสำคัญคือ จำนวนนักศึกษาในห้องเรียน ธรรมชาติของวิชา เป้าหมายผลลัพธ์ที่ต้องการให้นศ.เกิดขึ้น
- การวัดผลด้วยวิธีใดๆ ก็ตามควรให้ครบตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ตามคุณวุฒิระดับปริญญาตรี หรือเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา 4 ด้าน ความรู้ ทักษะ จริยธรรม ลักษณะบุคคล สอดคล้องกับเป้าประสงค์การผลิตบัณฑิตให้เป็นนักวิชาชีพเชิงรุกทางนิเทศศาสตร์ ที่กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์ด้วย
- เนื่องจากเป็นการสอนที่เน้นสร้างกิจกรรมให้นศ.เรียนรู้ ทดลอง ตั้งคำถาม หาคำตอบ หาแนวทางมากกว่าเน้นสอนเนื้อหาเยอะๆ การวัดผลเป็นระยะๆ หรือทุกสัปดาห์ที่มีการสอน จึงสำคัญ หรืออาจวัดผลตามกิจกรรม/สื่อที่ผู้สอนนำมาใช้สอน เพื่อให้เห็นพัฒนาการของผู้เรียนว่าจะสามารถไปสู่ผลลัพธ์ที่ผู้สอนตั้งไว้ได้หรือไม่เพียงใด แก้ปัญหาอย่างไร
- หากใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยสอน ควรใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยวัดผลด้วย อาทิ คลิปวีดิโอ google form แบบทดสอบออนไลน์ (e-Testing) เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้วัดผลได้หลายระยะและประมวลผลได้รวดเร็ว
- กรณีวัดผลโดยพิจารณาจากงานสร้างสรรค์ หรือผลงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ของนศ. ผู้สอนควรชี้แจงเงื่อนไข หรือเกณฑ์ในการวัดผลที่เป็นเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนให้ชัดเจน (Rubric scoring)
- สามารถวัดผลโดยสังเกตพฤติกรรม เพื่อให้เห็น feedback นักศึกษาและวัดเรื่องการมีส่วนร่วมในการเรียนและทำกิจกรรมของนักศึกษาได้ด้วย
- ใช้การประเมินแบบมีส่วนร่วม เช่น การให้นศ.ผลิตหนังสั้น ใช้วิธีวัดผลจากผลงานที่นักศึกษาผลิตออกมา โดยสามารถให้นักศึกษาประเมินผลงานตัวเอง และเพื่อนๆ ร่วมประเมินด้วย จากนั้นให้นักวิชาชีพและผู้สอนประเมินอีกขั้น
- ใช้วิธีการเป็นกันเอง เหมือนพี่เลี้ยง เช่น การพูดคุยถามปัญหาที่นศ.พบและแนวทางแก้ไขปัญหาที่นศ.ทำ
- ใช้การทดสอบบ้างในบางครั้ง
- วัดผลจากการฝึกทักษะขณะที่ทำและวัดจากวิธีคิดต่อยอดของนักศึกษาด้วยเพื่อให้เห็นวิสัยทัศน์ การนำผลการเรียนรู้ไปใช้ต่อไปในอนาคต
- การสอบเพื่อวัดความรู้นักศึกษายังจำเป็น และในมคอ.3 ควรเขียนเรื่องการวัดประเมินผลให้ชัดเจน คะแนนแบ่งให้ชัดเจน จะแบ่งเป็นกี่ส่วนแต่ละส่วนนศ.ต้องทำอะไร อย่างไร วิธีการวัดใช้วิธีอะไร
- ข้อดีของการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยวัดผลคือสามารถเก็บหลักฐานการสอบการให้คะแนนเด็กไว้ในระบบได้และสามารถเรียกดูเมื่อต้องการได้ แต่ต้องระวังเรื่องอุปกรณ์ของนักศึกษาที่ไม่เพียงพอ หรือมีแต่ใช้งานไม่ถึงตามโจทย์ที่อาจารย์กำหนด
- ผู้สอนต้องสอบถามความพร้อมของนักศึกษาในห้องเรียนก่อนเป็นอันดับแรก ไม่เฉพาะเรื่องอุปกรณ์ แต่เป็นเรื่องของโปรแกรมหรือแอพลิเคชั่นที่จะใช้สอนใช้วัดผลด้วยว่านักศึกษามีพร้อมหรือไม่
- โจทย์หรือสิ่งที่จะมอบหมายนักศึกษาทำเพื่อวัดประเมินผลต้องเป็นเรื่องที่สามารถวัดความรู้ ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาได้แท้จริง ไม่ใช่ตั้งโจทย์หรือให้ทำในสิ่งที่ google หรือ AI ก็ทำแทนได้
วิธีการเขียนมคอ.3 (แผนการเรียนรู้) เพื่อให้เห็นกิจกรรม/สื่อการเรียนการสอน และวิธีการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ในการสอนแบบ Teach Less, Learn More
- วิธีการเขียน มคอ.3 เขียนให้ครบองค์ประกอบ และสอดคล้องกัน โดยมี มคอ.7 เป็นแนวทาง และให้สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและคณะที่กำหนดไว้ว่าต้องการพัฒนาคนให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณลักษณะสำคัญอย่างไร
- องค์ประกอบที่ควรเขียนในมคอ.3 ตามแนวทาง OBE ได้แก่ (1) CLO หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับวิชา (Course Learning Outcomes) (2) ULO หรือผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดกับนศ.ในแต่ละสัปดาห์ที่เรียน (ระดับหน่วยการเรียนรู้/สัปดาห์) (Unit Learning Outcomes) และ LLO ผลลัพธ์ระดับหัวข้อหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับบทเรียน/หัวข้อ (Lesson Learning Outcomes) และหากมี PLO หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (Program Learning Outcomes) ใส่เข้ามาเพื่อให้เห็นที่มาว่าวิชานี้กำหนด มาตรฐานผลการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐาน TQF แต่ละด้านไว้อย่างไร (ความรู้ (Lifelong Learning) ทักษะ(Innovative & Creative Thinking/Digital Technology & Communication) จริยธรรม (Moral & Integrity) ลักษณะบุคคล (Growth Mindset/Work-life Balance)
- การนำสื่อหรือตัวอย่างกรณีศึกษามาประกอบการสอน หรือมาเป็นแบบทดสอบ แบบวิเคราะห์ให้นักศึกษาเรียนรู้ หรือนำมาเป็นแบบวัดประเมินผล ต้องระมัดระวังเรื่องระวังเรื่องลิขสิทธิ์ หรือประเด็น PDPA ของแหล่งข้อมูลด้วย
- กรณีผู้สอนผลิตสื่อเอง หรือออกแบบแบบวัดประเมินผลเองในรายวิชา และต้องนำมาให้นักศึกษาใช้ ควรระบุให้ชัดเจนว่านักศึกษาสามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้หรือไม่เพียงใดด้วยเพื่อเป็นการปกป้องเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
- สื่อ/กิจกรรมการเรียนรู้ที่นำมาใช้สอน และประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา ทั้งที่เป็นต้นแบบที่ผู้สอนผลิตเองหรือเป็นของผู้อื่นที่อาจมีลิขสิทธิ์หรือไม่มีก็ตาม ควรเขียนอ้างอิงลงในมคอ.3 ด้วยเพื่อให้เครดิตผู้สร้างสื่อ/คอนเทนต์ และเพื่อป้องกันการถูกฟ้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
ผลการใช้ประโยชน์จากความรู้เรื่อง การพัฒนาการสอนแบบ“Teaching Less, Learning More: การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างนักวิชาชีพเชิงรุกทางนิเทศศาสตร์” เกิดผลกับผู้เรียนและผู้สอนดังนี้
- หากพิจารณานักศึกษาเป็นรายบุคคลได้จะดีต่อตัวนักศึกษามากเพราะจะเห็นพัฒนาการจากผลงานของนักศึกษาแต่ละช่วงว่าเป็นอย่างไร จะส่งเสริมหรือปรับแก้อย่างไร เพราะผู้สอนเองได้รับรู้ความคิดจากการพูดคุย ได้สังเกตพฤติกรรมในระหว่างการสอน กล่าวคือ ผู้สอนได้ปรับวิธีการสอน-ผู้เรียนได้ปรับวิธีการเรียนด้วย
- นักศึกษาจะชอบวิธีการสอนแบบนี้และทำให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น เพราะชอบปฏิบัติผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ได้แสดงความเป็นตัวตนออกมา
- การสอนแบบนี้สนุกทั้งผู้สอน-ผู้เรียนเพราะผู้สอนได้ออกแบบโจทย์และสื่อการสอนใหม่ๆ ตลอด ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้สื่อใหม่ๆ เข้าถึงสื่อใหม่ๆหรือแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ มากขึ้น
- ผู้สอนมีภาระงานมากขึ้นเพราะต้องทำสื่อการสอนเพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้ให้นักศึกษา ต้องคิดโจทย์ใหม่ทันสมัยเข้ากับหัวข้อที่ต้องการให้นักศึกษาเรียนรู้ในรายวิชา ต้องคิดวิธีวัดและประเมินผลหลากหลายแบบ
- การใช้สื่อเพื่อวัดประเมินผลที่เป็นสื่อออนไลน์หลากหลายวิธี หลากหลายช่องทางและเข้าถึงง่ายมีข้อดีสำหรับนักศึกษาที่ไม่ค่อยตั้งใจหรือเข้าเรียนในห้องเรียนทุกครั้ง สามารถตามงานในไลน์กลุ่มหรือในแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ เช่น Google classroom ได้และผู้สอนก็มีฐานข้อมูลดิจิทัลที่เก็บผลงานนักศึกษาไว้ตรวจสอบการส่งงานได้ตลอดเวลา และนักศึกษาสามารถจัดการเรื่องการเรียนของตัวเองได้
- การสร้างบรรยากาศให้น่าเรียนเป็นกันเองกับผู้เรียนทั้งในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนที่กว้างๆ จะทำให้ผู้เรียนมีความสุข ความตั้งใจเรียนอยากเรียนรู้ก็จะตามด้วย
- จุดแข็งของการสอนแบบเน้นปฏิบัติ คือ เห็นความตั้งใจเด็ก เห็นความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา
- ผู้สอนได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษามากขึ้น นักศึกษากล้าเข้าหาหรือถามไถ่ข้อสงสัยผู้สอนมากขึ้น