KM ด้านการเรียนการสอน 2566

            คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จัดโครงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประจำปีการศึกษา 2566 (Knowledge Management: KM) ณ ห้องประชุม KM คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ด้านการเรียนการสอน/ผลิตบัณฑิต: เรื่อง “การใช้ Generative AI สำหรับการสอนด้านนิเทศศาสตร์”ระหว่างวันที่ 7 ธ.ค.66- 17 ม.ค.67 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่มเกล้า

สรุประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเรียนการสอน/ผลิตบัณฑิต  เรื่อง “การใช้Generative AI สำหรับการสอนด้านนิเทศศาสตร์” ดังนี้

แนวทางการใช้ Generative AI (ChatGPT) ที่เหมาะสมกับลักษณะและบริบทของรายวิชา

  1. ใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยแต่ไม่ได้ทั้งหมด
  2. กรณีวิชาทฤษฎี AI ช่วยในเรื่องการค้นข้อมูลที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนแต่ก็ต้องระวังเรื่องความถูกต้องของข้อมูล และที่มาของข้อมูล
  3. กรณีวิชาปฏิบัติหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ AI จะช่วยได้มาก เพราะทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆในการใช้ความคิดสร้างสรรค์แต่ต้องระวังเรื่องลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา
  4. วิชาด้านนิเทศศาสตร์หลายวิชาสามารถใช้ Generative AI มาช่วยได้ แต่ผู้สอนต้องฝึกใช้ให้เชี่ยวชาญเพื่อเห็นข้อดีของการนำมาใช้ และข้อบกพร่องที่อาจจะเกิดจากการใช้

การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ โดยบูรณาการความคิดสร้างสรรค์สู่การปฏิบัติจริง

  1. การใช้ Generative AI เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสอนควรระบุให้ชัดและวางแผนการสอนแต่ละหัวข้อใน มอค.ให้ชัดเจน
  2. ในแผนการเรียนรู้ หรือ มคอ. ที่เกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อช่วยสอน ควรระบุทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหา และวิธีการเรียนรู้ เช่น เพิ่มเติมหัวข้อการสอนในรายวิชา GEN207 หัวข้อ “ความคิดสร้างสรรค์เพื่อการสื่อสาร” ประกอบด้วย หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างภาพ AI และการประมวลผลภาพ AI, โมเดลการสร้างภาพ ai ยอดนิยมทั้งแบบใช้งานฟรี และแบบมีค่าใช้จ่าย และขั้นตอนการใช้งานเพื่อสร้างสรรค์ภาพ AI, หลักการออกแบบสำหรับการสร้างภาพ AI โดยให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติ เป็นการบูรณาการความคิดสร้างสรรค์สู่การปฏิบัติจริง
  3. AI ที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้มีหลายตัวอาทิ Chat GPT, Grammarly, Chatbot, Amazon ซึ่งมีแหลายเวอร์ชั่น, Bing Chat

ข้อพึงระวังด้านกฎหมาย-จริยธรรมต่อการใช้ AI เพื่อสร้างสรรค์งานทางนิเทศศาสตร์

  1. การใช้ AI มีทั้งผลดีผลเสียในกรณีผลเสียทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งระดับบุคคลและสังคมภาพรวม
  2. ข้อมูลที่ AI นำมาใช้อาจเป็นข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน อาจผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ โดยที่ผู้ใช้งานไม่รู้ตัว
  3. การใช้ข้อมูลที่ทำโดย AI แม้มนุษย์จะเป็นผู้ป้อนคำสั่งแต่อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยคุกคามไซเบอร์ได้ง่าย เช่น การหลอกลวง การให้ข้อมูลลวง ข่าวเท็จ โฆษณาเกินจริง เป็นต้น
  4. การใช้ AI ทำงานข่าวหรืองานบางอย่างแทนมนุษย์อาจทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ส่งผลให้เกิดงานสร้างสรรค์ที่มีข้อจำกัด
  5. ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูและและมาตรฐานการใช้ AI สำหรับผู้ใช้สื่อในประเทศรวมถึงสื่อมวลชนที่ชัดเจน
  6. ในฐานะที่นักศึกษาจะไปประกอบอาชีพสื่อ ควรย้ำว่า สื่อมวลชนควรใช้ AI เป็นเครื่องมือรอง ไม่ใช่เครื่องมือหลัก การออกแบบความคิดสร้างสรรค์ การแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอควรมาจากฝีมือของตนเองเป็นหลัก
  7. ควรใช้ AI ให้สมดุลและเหมาะสมกับงาน โดยคำนึงถึง จรรยาบรรณวิชาชีพ การไม่ละเมิดลิขสิทธิ์  ไม่พาดพิง ยึดหลักความถูกต้องความน่าเชื่อถือของข้อเท็จจริง

วิธีการกำหนด prompt หรือคำสั่งในการใช้ AI เพื่อทำงานและทำวิจัยทางนิเทศศาสตร์

  1. ควรสอนนักศึกษาให้คิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล เพื่อจะได้รู้วิธีการสร้างข้อมูลจาก AI ด้วย
  2. การใช้คำสั่ง AI เพื่อทำงานนิเทศศาสตร์ เช่น เขียนบท ออกแบบภาพ-เสียง ต้องมีทักษะในการใช้คำสั่ง จึงต้องให้ฝึกหลายๆ วิธีป้อนคำสั่ง ลองผิดถูกเพื่อให้ได้สิ่งที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุด
  3. การสอนการใช้คำสั่ง AI ควรสอนทั้งแบบพื้นฐานกับการใช้งานง่ายๆ ไม่ซับซ้อนและแบบซับซ้อนด้วย
  4. การใช้คำสั่ง AI เพื่อช่วยงานวิจัย ต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้มาด้วย ระวังข้อมูลจากวิกิพีเดียซึ่งอาจไม่ถูกต้องเสมอไป

ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้ AI ในการเรียนการสอน

  1. ระวังปัญหาด้านทักษะการใช้ การรู้เท่าทันข้อมูลที่นำมาใช้
  2. ระวังปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือทรัพย์สินทางปัญญา
  3. ควรเน้นย้ำนักศึกษาว่าใช้ AI เพื่อช่วยไม่ใช่ใช้เป็นหลัก เพราะงานนิเทศศาสตร์เป็นงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำเดิม
  4. ควรยกตัวอย่างผลงานทางนิเทศศาสตร์ที่เกิดจาก AI ที่เป็นทั้งข้อดี และผลเสียที่เกิดขึ้น

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกิดจากการใช้ AI ในการสอน

    1. ผู้สอนต้องพึงระวังให้มากว่าผลงานที่นักศึกษานำมาส่งอนุญาตให้ใช้ AI ได้หรือไม่อย่างไร
    2. กรณีที่ไม่อนุญาตต้องมีวิธีการวัดประเมินผลที่รัดกุม เช่น ใช้สอบปากเปล่า หรือให้นำเสนอที่มาที่ไปของความคิดสร้างสรรค์ หรือผลงานที่มอบหมายให้นักศึกษาทำ