คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต…

คณะวิศวกรรมศาสตร์

รู้จักเรามากขึ้น

KM

องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการพัฒนาการผลิตบัณฑิตสำหรับศตวรรษที่ 21
ด้วยการวิจัยในชั้นเรียน
สรุปโดย คณะทำงานด้านการจัดการองค์ความรู้
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

“การวิจัยในชั้นเรียน” เป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาด้านเรียนการสอน ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องมือที่อาจารย์ผู้สอนสามารถนำมาใช้เพื่อศึกษาถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการเรียนการสอนแล้ว การวิจัยในชั้นเรียนยังทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางและกระบวนการในการพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณภาพสำหรับศตวรรษที่ 21 (ดังรูปที่ 1)  และยังสามารถเผยแพร่ความรู้และเทคนิควิธีการที่ผู้วิจัยได้คิดค้นและทดลองปฏิบัติแล้วนั้นให้กับอาจารย์ผู้สอนท่านอื่น ๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขหรือพัฒนาการเรียนการสอนของตนเองได้

รูปที่ 1 คุณสมบัติของนักเรียนและระบบสนับสนุนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

 

สำหรับเทคนิคในกระบวนการทำวิจัยในห้องเรียนสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. การกำหนดโจทย์ หรือปัญหาการวิจัย

โจทย์ในการวิจัยหรือปัญหาที่นำมาใช้ในการวิจัยพัฒนาได้จาก

  • ปัญหาที่เกิดกับตัวผู้เรียน อาจจะเป็นปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาการเรียนรู้ ซึ่งอาจารย์สามารถค้นหาปัญหาเหล่านี้จากสังเกตพฤติกรรมของนักศึกษา บันทึกท้ายแผนการสอน บันทึกผลการเรียน การสังเกตรวมถึงการพูดคุยเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน ฯลฯ
  • ปัญหาที่เกิดระหว่างการจัดการเรียน การสอน อาจจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอน การจัดกิจกรรม กระบวนการสอนของอาจารย์ หรือการวัดประเมินผล เป็นต้น
  • ปัญหาจากความต้องการของอาจารย์ที่จะพัฒนาคุณภาพการสอนให้ดียิ่งขึ้น

ปัญหาดังกล่าวควรเป็นปัญหาที่มีความสำคัญส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และความสัมฤทธิ์ผลของการศึกษา เป็นปัญหาที่มีผลต่อเนื่องได้แก่อาจจะมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาหรือผลอื่นๆ หากไม่ได้รับการแก้ไข เป็นปัญหาที่วิธีการเดิมๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้และเป็นปัญหาที่อาจารย์สามารถดำเนินการวิจัยได้ด้วยตนเอง

  1. วิเคราะห์สภาพปัญหา

อาจารย์ผู้สอนจะต้องวิเคราะห์ได้ว่าสภาพปัญหาคืออะไร เป็นอย่างไง เกิดช่วงไหน เกิดกับนักศึกษาส่วนใหญ่หรือบางคน

  1. วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา

ในการวิเคราะห์ควรพิจารณาให้รอบด้านเพื่อทราบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง เช่น สาเหตุอาจมาจากตัวนักศึกษาเอง ตัวอาจารย์ผู้สอน เพื่อน ผู้ปกครอง สภาพครอบครัว เป็นต้น วิธีการที่จะค้นหาสาเหตุ คือ ใช้การสังเกตพฤติกรรม พูดคุยกับนักศึกษา ดูจากผลงานของนักศึกษา ใช้การทดสอบ การสอบถามพูดคุยกับเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน ฯลฯ

  1. หาแนวทางแก้ไขปัญหา

วิธีการที่ใช้ในแต่ละปัญหาอาจจะแตกต่างกัน ในการหาแนวทางหรือวิธีการแก้ปัญหา อาจารย์ผู้สอนสามารถใช้การสังเกตแล้วเชื่อมโยงกับปัญหาและสาเหตุของปัญหา หรืออาจจะหาแนวทางจากการศึกษางานวิจัยของผู้อื่นแล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับนักศึกษาของตนเอง

  1. กำหนดชื่อเรื่องวิจัย คำถามวิจัย และวัตถุประสงค์การวิจัย
  • ชื่อเรื่องวิจัย ระบุให้ชัดถึงเรื่องที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนา กลุ่มเป้าหมาย และวิธีที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนา เช่น ผลของการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ในการแก้ปัญหาในการออกแบบและความสนใจในการเรียนรู้ของนักศึกษาในวิชา CE.418 เป็นต้น
  • คำถามวิจัย กำหนดคำถามนำทางเพื่อให้การดำเนินงานสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการ คำถามวิจัยกำหนดได้มากกว่า 1 ข้อ เช่น การเสริมพื้นฐานความรู้ของนักเรียนมากน้อยเพียงใด และอย่างไร
  • วัตถุประสงค์การวิจัย กำหนดให้สอดคล้องกับชื่อเรื่องวิจัยว่าต้องการทำวิจัยเพื่ออะไร
  1. วางแผนการดำเนินการแก้ปัญหา

ในการวางแผนจะต้องเขียนให้สามารถมองเห็นภาพของการดำเนินงานอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะระบุประเด็นต่อไปนี้

  • เครื่องมือในการวิจัย โดยระบุทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ เช่น มคอ.3 แผนการแก้ปัญหาโดยการสอนซ่อมเสริม เป็นต้น และเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น แบบสังเกตพฤติกรรม แบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ เป็นต้น สำหรับการทำวิจัยในชั้นเรียนไม่จำเป็นต้องหาประสิทธิภาพของเครื่องมือ
  • การเก็บรวบรวมข้อมูล ให้ระบุว่าจะใช้เครื่องมือใดเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเวลาใด และเก็บอย่างไร
  1. ลงมือปฏิบัติตามแผน เก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล

ในขั้นที่ 1-6 เป็นโครงร่างของการวิจัย จากนั้นดำเนินการตามแผน และเก็บรวบรวมข้อมูลตามที่กำหนดไว้ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลอาจจะต้องมีสถิติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการวิจัยในชั้นเรียนส่วนใหญ่ใช้การหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นต้น

  1. การสรุปและอภิปรายผลการวิจัย

การสรุปผลการวิจัยจะต้องสรุปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบอาจจะในรูปตาราง แผนภูมิ แผนภาพ หรือเขียนบรรยาย ส่วนการอภิปรายผลเป็นการกล่าวว่าผลจาการวิจัยเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะเหตุใด สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้อื่นทำไว้หรือไม่ หรือผู้วิจัยมีแนวคิดอะไรเพิ่มเติมจาการทำวิจัยในครั้งนี้บ้าง

  1. การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน

การเขียนรายงานวิจัยในชั้นเรียนไม่มีรูปแบบที่เป็นทางการเหมือนการวิจัยทั่วไป ดังนั้นอาจจะเขียนบรรยายตามหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้น หรือจะใช้รูปแบบที่เป็นทางการตามความคุ้นเคยก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการวิจัยในชั้นเรียนเป็นกระบวนการที่ดำเนินงานไปพร้อมๆ กับกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยมีขั้นตอนสำคัญๆ เหมือนกับการวิจัยทั่วไป แต่ไม่มีรูปแบบที่เป็นทางการ และการวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้เพียงสถิติที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ซึ่งทำให้อาจารย์ผู้ทำวิจัยสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้อย่างต่อเนื่องและสามารถนำผลที่ได้ไปใช้ในการพัฒนากระบวนการในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติของบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 ได้ต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

  1. รศ.ดร.กาญจนา วัธนสุนทร, (2558). การวิจัยในชั้นเรียน: หลักการและตัวอย่าง, เอกสารประกอบการบรรยาย วันที่ 24 เมษายน 2558.
  2. การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research :CAR), https://sites.google.com/site/fanclubprin/14-1
  3. การวิจัยในชั้นเรียน, https://sites.google.com/site/krumod2525/wicay-ni-chan-reiyn